วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตำนานบั้งไฟพญานาค


ในวันออกพรรษาของทุกๆ ปี มีประชาชนมากมายต่างแห่แหนกันไปเฝ้าชมบั้งไฟพญานาคเพื่อเป็นบุญตาสักครั้ง ผู้ที่เคยเห็นแล้วเกิดความประทับใจกลับมาชมซ้ำก็มี

ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยเห็น บ้างมาเพราะเชื่อและศรัทธาในพญานาคจึงอยากมาร่วมบุญด้วย เพราะเชื่อว่าพญานาคพ่นบั้งไปออกมาเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แต่บ้างก็มาเพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตาตนเองว่ามีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร จะเป็นฝีมือของพญานาค ฝีมือธรรมชาติ หรือฝีมือมนุษย์กันแน่

แม้ความคิดความเชื่อจะแบ่งแยกแตกต่าง แต่หลายปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นทุกปี และจะมีเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

หลักฐานมาพุทธประวัติกล่าวถึงเหตุเบื้องต้นว่า...

ในพรรษาที่ 7 (นับแต่พระองค์ตรัสรู้เป็นต้นมา) พระพุทธเจ้าได้เสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะต้องการที่จะแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายา ซึ่งเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วได้เสด็จบังเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต

เมื่อพระอินทร์ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาจำพรรษาที่นี่ ก็ทรงป่าวประกาศแก่หมู่เทพยดาในสวรรค์ให้มาร่วมชุมนุนเพื่อฟังธรรมพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาทั้งพรรษาจนพุทธมารดาบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด ส่วนเทพนอกนั้นได้บรรลุมรรคผลตามสมควรอุปนิสัยแห่งตน

เมื่อครบพรรษาพระองค์ก็เสด็จกลับลงมา โดยพระอินทร์ได้เนรมิตบันไดขึ้น 3 บันไดเป็นที่เสด็จลง คือ บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี บันไดทองสำหรับหมู่เทพอยู่ด้านขวา บันไดเงินสำหรับท้าวมหาพรหมอยู่ด้านซ้าย และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า




ในระหว่างที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึวส์นั้น พระองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ขณะประทับยืนอยู่ที่บันไดแก้ว โดยได้ทรงทอดพระเนตรไป ทางทิศเบื้องบน แล้วเทวโลกและพรหมโลกก็เปิดมองเห็นโล่ง จากนั้นก็ทรงทอดพระเนตรไปในทิศเบื้องต่ำ นิรยโลกทั้งหลายก็เปิดโล่งอีกเช่นกัน ครั้งนั้น สวรรค์ มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างก็เห็นซึ่งกันและกันทั่วจักรวาล ชาวพุทธเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “เปิดโลก”




ผู้อาศัยอยู่ในสามโลกมองเห็นกัน มนุษย์เห็นเทวดา เทวดาเห็นมนุษย์ มนุษย์และเทวดาเห็นสัตว์นรก สัตว์นรกเห็นเทวดาและมนุษยื แล้วต่างเหลียวมองดูพระพุทธเจ้าผู้เสด็จลงจากสวรรค์ด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ในคัมภีร์ธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แต่งถึงกับกล่าวไว้ว่า “วันนี้คนทั้งสามโลกได้เห็นแล้ว ที่ไม่อยากเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่มีเลยสักคน”

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า... ขณะนั้นเอง พญานาคซึ่งเฝ้ามองพระองค์อยู่ก็มีความปรารถนาดุจเดียวกัน จนเกิดความปีติและศรัทธาอย่างแรงกล้า ประกอบกับบุญบารมีที่ได้ถืออุโบสถศีลมาตลอดทั้งพรรษา ทำให้พญานาคสามารถกลั่นดวงประทีปที่สุกใสที่เกิดจากใจอันเป็นกุศลออกมาได้ และได้พ่นดวงประทีปหรือบั้งไฟพญานาคเหล่านั้นขึ้นสู่ท้องฟ้าดวงแล้วดวงเล่าดวงแล้วดวงเล่าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่พระองค์

นับจากนั้นเป็นต้นมา พญานาคก็ยึดเอาวันออกพรรษาของทุกปีออกมาพ่นบั้งไฟอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก

แต่ก็ใช่ว่าพญานาคทุกตัวจะสามารถพ่นบั้งไฟได้ พญานาคที่พ่นบั้งไฟได้ คือ พญานาคที่มีความเลื่อมใสศรัทาในพระพุทธศาสนาและถืออุโบสถศีลตลอดทั้งพรรษา เท่านั้น ถึงจะมีกำลังบุญและแรงปิติมากพอสร้างบั้งไฟขึ้นมาได้ ซึ่งขนาดของลูกไฟจะใหญ่หรือเล็กก็ตามแต่กำลังบุญของพญานาคตัวนั้นๆ

ส่วนจำนวนบั้งไฟพญานาคในแต่ละปีจะมีจำนวนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นมีพญานาคถืออุโบสถศีลมากน้อยเพียงใด เพราะพญานาคนั้นแม้จะเกิดขึ้นในชั้นของสวรรค์ก็ยังมีกิเลสและบริโภคกามอยู่ บ้างมัวเพลิดเพลินในทิพย์สมบัติ บ้างศีลขาดเพราะทนคิดถึงนางนาคมาณวิกาไม่ไหวก็มี โดยการจำศีลของพญานาค ขณะจำศีลจะมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ คือระลึกถึงเหตุการณ์ใน วันเทโวโรหนะ (แปลว่า วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก) โดยพวกที่เคยเห็นในวันนั้นจะบอกเล่าแก่ผู้ที่มาภายหลังให้ระลึกถึงตามไปด้วย

ดังนั้นความศรัทธาและความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าจึงยังไม่เสื่อมคลายไปตามกาลเวลาที่พ้นผ่าน เพราะมีการสืบทอดสิ่งต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่นเช่นเดียวกับมนุษย์ รวมถึงความสามารถระลึกชาติได้เองของพญานาคอีกปัจจัยหนึ่ง ทำให้การพ่นบั้งไฟพญานาคเปรียบเหมือนประเพณีที่เหล่าพยานาคต่างยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จะมีคลาดเคลื่อนจากเดิมไปบ้างก็คือเรื่องเวลาเท่านั้น คือเปลี่ยนจากกลางวัน (ตามพุทธประวัติ) เป็นเวลากลางคืนแทน ก็เพราะ ประการแรก พญานาคจะยึดเวลาตามจันทรคติ ใช้ดวงจันทรืเป็นเครื่องกำหนดรู้ โดยยึดวันเข้าและออกพรรษาตามปฏิทินของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาของลาว คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของปฏิทินไทย ประการที่สอง ดวงจันทร์วันเพ็ญจะมีอิทธิพลต่อจิตใจของพญานาคมาก เมื่อได้เห็นดวงจันทร์เต็มดวงจะยิ่งทำให้เกิดความปิติมากขึ้นไปอีกจนสามารถพ่นบั้งไฟพญานาคออกมาได้ ประการที่สาม คือเดือนเพ็ญเป็นคืนที่เทวดาและมนุษย์สามารถรับกระแสบุญจากพระนิพพานได้อย่างเต็มที่

ส่วนสถานที่พ่นบั้งไฟทำไมถึงมีปรากฏอยู่แค่บริเวณลุ่มน้ำโขงเท่านั้น เชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากพญานาคที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพวกเดียวที่มี สัมมาทิฐิ คือ นับถือพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง เหมือนกับที่ผู้คนสองริมฝั่งโขงนับถือและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งในท้องถิ่นอื่นๆ บ้างมีการเปลี่ยนไปนับถือสาสนาอื่นแล้ว หรือไม่ก็หันไปนับถือพระเจ้าแทน พอมนุษย์เหล่านั้นเวียนว่ายตายเกิดเป็นเทวดาหรือพญานาค ก็ยังคงมีความเชื่อเหมือนเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทุกประการทำให้พญานาคเหล่านั้นไม่สามารถพ่นบั้งไฟได้นั่นเอง

จากเรื่องเล่าและหลักฐานต่างๆ แม้จะยังไม่ได้รับการยืนยันว่าบั้งไฟพญานาคเป็นฝีมือของพญานาคหรือไม่แต่อย่างน้อยก็ยังมีสิ่งยืนยันได้ว่า พญานาคมีตัวตน หากเชื่อตามพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงความเกี่ยวข้องระหว่างพระพุทธเจ้ากับพญานาคในหลายๆ เหตุการณ์ รวมถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่เคยเสวยชาติเป็นพยานาค

1 ความคิดเห็น: