วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พญานาคกับพิธีกรรมและความเชื่อ

ความเชื่อ ในเรื่องของ พญานาค นั้น ไม่เฉพาะพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศอื่นๆ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ต่างก็เชื่อในอิทธิฤทธิ์ของพญานาค สังเกตได้จากรูปพญานาคที่บันได โบสถ์ วิหาร ปราสาท ต่างๆ เช่น โบสถ์หลวงพ่อองค์ตื้อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย หอพระแก้วเวียงจันทน์ ประเทศลาว นครวัดนครทม ประเทศกัมพูชา เป็นต้น บางประวัติมีเรื่องเล่า และตำนานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หรืออักครสาวกที่เสด็จมาจากประเทศอินเดีย มาเยือนพื้นที่ต่างๆ และได้ประทับรอยพระบาทเอาไว้ เพื่อเป็นที่ระลึกให้พุทธศาสนิกชนในถิ่นนั้นได้กราบไหว้ โดยต่อมาพุทธศาสนิกชนก็ได้ช่วยกันสร้างมณฑปครอบรอยพระบาทเอาไว้ สร้างกำแพงล้อมรอบ สร้างซุ้มประตู สร้างบันไดพญานาคเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เสมือนหนึ่งเป็นการเชื่อมโยงชุมชนของพระพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคแถบนี้ โดยมีความเชื่อว่า พญานาคคือเทพเจ้าที่มีอิทธิฤทธิ์ ทำหน้าที่ปกปักรักษาศาสนาพุทธ รักษาศาสนสถานต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ แม่น้ำ ลำคลอง ห้วยหนองคลองบึงต่างๆ คอยดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล รักษาโบราณสมบัติต่างๆ เช่นแก้วแหวนเงินทอง ของแผ่นดินที่อยู่บนบกและในน้ำ และนอกนี้ยังเป็นเครื่องวัดเรื่องฝน เช่น นาคให้น้ำ พญานาค เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ "นาคให้น้ำ" เป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านรู้และเข้าใจดี ที่ใช้วัดในแต่ละปี จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคกลืนน้ำไว้ในท้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น