วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภูมิหลัง ” พญานาค”

     “นาค” หรือ “พญานาค” เป็นทิพย์ภาวะจำพวกหนึ่ง อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกของสวรรค์ชั้น “จาตุมหาราชิกา” เป็นชาวสวรรค์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีอิทธิฤทธิ์และกำลังยิ่งใหญ่มหาศาล มีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอน ตาสีแดง มีเกล็ดมากมายหลายสีแตกต่างกันไป เมื่อเวลาออกหาอาหารกินจะแปรสภาพเป็น ”งู” ส่วนในเวลาปกติจะอยู่ในสภาวะของนาคก็ได้ ทิพย์ภาวะ หรือแม้กระทั้งภาวะของมนุษย์ก็สามารถทำได้

ใน ขันธะปริตตะคาถา พระไตรปิฎก แสดงไว้ว่า พญานาคนั้น มี 4 ตระกูล คือ

1. วิรูปักษ์ (ตระกูลสีทอง)
2. เอราปถ (ตระกูลสีเขียว
3. ฉัพพยาปุตตะ (ตระกูลสีรุ้ง)
4. กัณหาโคตรมะ (ตระกูลสีดำ)

     4 ตระกูลนี้ถือว่าเป็นตระกูลใหญ่ และได้กระจัดกระจายขยายเผ่าพันธ์ออกเป็น 2 สาย คือ “นาคบก” อาศัยในป่าหิมพานต์ เรียกว่า ”ถลชะ” และพวกที่อาศัยในมหาสมุทร (น้ำ) เรียกว่า “ชลชะ”

     เรื่องราวของพญานาคนั้นถือเป็นเรื่อง “แปลกประหลาด” เพราะมีข้อมูลบางอย่างที่ “เหมือน” และ “แปลก” ไปจากทิพย์ภาวะของสวรรค์ เช่น การให้กำเนิด “ทายาท” ของทิพย์ภาวะที่มี “ต้นกำเนิด” แบบ “โอปปาติกะ” (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ)

     เพราะเมื่อถือกันว่า “พญานาค” เป็นทิพย์ภาวะ เป็นชาวสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาจำพวกหนึ่ง เรื่องการกำเนิด “สืบทายาท” เป็นพญานาคก็คงจะไม่แตกต่างไปจากทิพย์ภาวะในสวรรค์ กล่าวคือ ในดินแดนสวรรค์นั้น ชาวสวรรค์จะถือกำเนิดแบบ “โอปปาตกะ” คือ “ไม่ต้องตั้งครรภ์” แต่จะเกิดเป็นทิพย์ภาวะเลย คือ เกิดโตขึ้นทันที และมีอวัยวะครบสมบูรณ์เหมือนมนุษย์ที่สมบูรณ์แต่เป็นทิพย์ภาวะ

     มีความเชื่อว่า ถ้าเป็นเทพบุตรจะมีรูปร่างโสภาเสมือนผู้ชายที่อายุประมาณ 20 ปี ส่วนที่เป็นเทพธิดาก็เสมือนหญิงสาวอายุราว 17-18 ปี โดยไม่มีการแก่ ไม่มีอาการเจ็บไข้ ตลอดจนอายุขัย (สิ้นบุญ) และหากอยากกินอะไรก็เพียงนึกเอาก็อิ่มแล้ว ซึ่งเรียกว่า “อิ่มทิพย์”

     การเกิดขึ้นของทิพย์ภาวะนั้นๆ ว่าจะมีตำแหน่งใดบนสวรรค์ชั้นนั้นๆ ขึ้นอยู่กับ “บุญ” คือ การประกอบคุณงานความดีด้วยเช่นกัน ถ้าจะเกิดเป็น “บุตร” หรือ “ธิดา” ก็จะเกิดขึ้นที่ “ตัก” ถ้าเกิดเป็น “บาทบริจาก” (ภรรยา) จะไปเกิดใน “ที่นอน” ถ้าเกิดเป็น “ผู้รับใช้” ก็จะเกิดภายในวิมานของทิพย์ภาวะผู้ปกครององค์นั้นๆ

     แต่การกำเนิดเป็น “นาคทิพย์ภาวะ” มีความแตกต่างไปจากชาวสวรรค์ทั่วไป เพราะจากตำนานกล่าวไว้ว่า พญานาคนั้นมีความสามารถพิเศษ คือ สามารถจำแลงแปลงกายผสมพันธ์กับมนุษย์ เมื่อ “นางนาค” ตั้งท้องก็จะคลอดลูก และในทุกตำนานก็จะกล่าวถึงนาคที่ ขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองสวรรค์ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิดตามสถานการณ์นั้นๆ โดยรู้ได้จากมีเรื่องใน “ภูริทัตต์ชาดก” ตอนหนึ่ง กล่าวถึงนางนาคที่ชื่อว่า “มาณวิกา” หลังจากที่นางได้แปลงกายสมสู่ใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์จนมีบุตรธิดาด้วยกันแล้ว เมื่อเหล่าข้าราชบริพารได้เข้ามาอัญเชิญให้เข้าไปอยู่ในนคร นางนาคได้กล่าวปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “...วิสัยของนางนาคนั้นดกรธง่ายและมีฤทธิ์ร้าย หากเข้าไปอยู่ในวังแล้วมีผู้ใดทำให้โกรธเพียงแค่ถลึงตามอง ผู้นั้นก็จะมอดไหม้ไป จึงของทูลลากลับไปอยู่เมืองนาค...”

     นอกจากเรื่อง “การให้กำเนิด” ทายาทที่แปลกแล้ว “การกินอาหาร” ก็ถือว่าแปลกด้วย ซึ่งจากที่ชาวสวรรค์ปกติ “อิ่มทิพย์” แต่เนื้อความที่แสดงใน “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่า “พญานาค เมื่อหิวก็จำจำแลงแปลงกายออกหากิน

     นอกจากนั้น ยังมีคติความเชื่อที่ว่า ถึงแม้พญานาคจะสามารถแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ พยานาคจะต้องปรากฎร่างเป็นาคเช่นเดิม คือ

     1. ขณะเกิดเป็นนาค
     2. ขณะลอกคราบ
     3. ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค
     4. ขณะนอนหลับโดยไม่ได้สติ
     5. เมื่อสิ้นใจ แม้จำแลงเป้นภาวะอื่น ก็จะกลับเป็นนาคตามเดิม

     ในภาวะการณ์ทั้ง 5 นี้ แม้มีหลายข้อยังหาหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันและสนับสนุนคำกล่าวไม่ได้ แต่สำหรับข้อ 4 สามารถยืนยันได้ชัดเจน โดยอาศัย “พระไตรปิฎก” กล่าวว่า ในครั้งพุทธกาลเคยมีพญานาคแปลงกายเป็นมนุษย์เข้ามาบวช บ่ายวันหนึ่งได้เผลอนอนหลับในกุฏิ และเมื่อขาดสติก็ได้คืนสู่ภาวะเดิม คือ เป็นร่างพญานาคตัวใหญ่นอนขนดม้วนห่อหุ้มด้วยผ้าจีวรอยู่ เมื่อภิกษุทั้งหลายผ่านไปเจอก็ตกใจ และเกิดเป็นคดีความจนต้องห้ามไม่ให้พญานาคบวชในพระพุทธศาสนา

     นอกจากนั้นในคัมภีร์ทางศาสนายังกล่าวว่า เคยมีพญานาคตนหนึ่งแปลงกายเป็นมนุษย์เข้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ โดยได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ตั้งกฎบัญญัติ ห้ามมิให้พระภิกษุทั้งหลายฉันเนื้องูทุกชนิด ซึ่งในเรื่องนี้พระพุทธองค์ก์ทรงอนุญาตและได้บัญญัติ “พระวินัย” ขึ้นมา

     นาคทั้งหลายนั้นมีใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก แต่เมื่อไม่ได้โอกาสบวช จึงเลือกทำหน้าที่ดูแลและคุ้มครองพระพุทธศาสนาในอีกมิติหนึ่ง

     เมื่อดูจากเหตุการณืต่างๆ แล้ว น่าจะสรุปได้ว่า เรื่องราวของทิพย์ภาวะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ส่วนพญานาคนั้นเป็น “กึ่งเทพ” และ “กึ่งสัตว์เดรัจฉาน” ทิพย์ภาวะบางอย่างจึงไม่ละเอียดเท่ากับนางฟ้าเมวดาทั่วไปในสวรรค์ชั้นเดียวกัน อิริยาบถต่างๆ เช่น การกิน หรือการสืบทายาทจึงไม่เป้นแบบ “ทิพย์ภาวะ”

     หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า อุบัติการณ์ต่างๆ ของนาคนั้นมีความเหมือนกับ “ครุฑ” ซึ่งเป็นทิพย์ภาวะจำพวกหนึ่งในสวรรค์ชั้นเดียวกัน แต่ครุฑอยู่ในป่าไม่งิ้ว (ในตำนานกล่าวว่าทั้งสองเป็นศัตรูกัน) ในเรื่องของครุฑก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นข้อสนับสนุนในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ในคราวที่พวก “อสูร” บุกดาวดึงส์สวรรค์ เมื่อ “พระอินทร์” สู้กองกำลังของพวกอสูรไม่ได้ จึงคิดหนีเพื่อไปตั้งหลัก โดยอาศัย “เวชยันต์” เป็นพาหนะ ซึ่งมีขนาด 150 โยชน์ แล่นไปด้วยความเร็ว เมื่อได้เข้าไปในป่าไม้งิ้ว และทำลายป่าไม้งิ้วระหว่างหนทางจนราบเรียบ “ลูกนกครุฑ” ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ก็พลัดตกลง และพากันส่งเสียงร้อง พระอินทร์จึงตรัสถาม “มาตลีเทพบุตร” ว่า นั่นเสียงอะไร เสียงร้องน่าสงสารยิ่งนัก มาตลีเทพบุตรทูลว่า ลูกนกครุฑพากันร้องเพราะพวกมันถูกภัยคุกคาม พระอินทร์เมื่อรับฟังดังนั้นจึงตรัสว่า เราจะไม่อาศัยความเป็นใหญ่แล้วกระทำกรรมหนัก หรือทำให้ ลูกนกครุฑเหล่านั้นเดือดร้อน จากนั้นพระองค์จึงสั่งกลับรถ และตั้งใจจะมอบชีวิตให้แก่พวกอสูรทั้งหลาย มาตลีเทพบุตรจึงกลับเวชยันต์มุ่งสู่เมวโลก....

     จะเห็นว่า บนสวรรค์ไม่มีสัตว์เดรัจฉาน แต่ครุฑกับนาคซึ่งเป็นชาวจาตุมหาราชิกาสวรรค์ภาคตะวันตก กลับบ่งบอกลักษณะว่าเป็นเดรัจฉานอย่างชัดเจน เพราะหนึ่งคือ “นกใหญ” เป็นอมุนษย์ ครึ่งนกครึ่งคน อีกหนึ่งคือ “พญางู” วึ่งเป็นสัตว์เลื่อยคลาน


     ดังนั้น อุบัติการณ์ของทิพย์กายที่มีภาวะครึ่งเทพครึ่งเดรัจฉานอาจมีสาเหตุคล้ายยมฑูต ซึ่งเป็น “มหิทธิกาเปรต” โดยภาคหนึ่งสามารถไปเสวยสุขบนสวรรค์ อีกภาคหนึ่งต้องกลับไปเป็นคนนรกเพื่อใช้วิบากกรรมอันไม่ดี แต่ครุฑกับนาคน่าจะมีวิบากกรรมอันไม่ดีที่ค่อนข้างชัดเจนกว่า จึงชดใช้แค่ความเป็นเดรัจฉาน ไม่ถึงกับต้องไปเป็นสัตว์นรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น